ประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • พิษณุศักดิ์ อินทรรุจิกุล สถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่

คำสำคัญ:

ประสิทธิภาพ, การป้องกัน, ยาเสพติด

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นข้อเสนอแนะของบุคลากรและนิสิตที่มีต่อระดับประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และเพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาตามแนวคิดของระดับประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) คือการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษากับประชาชนในเขตพื้นที่สถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๙๒ คน โดยใช้เครื่องมือในการวิจัยเชิงปริมาณเป็นแบบสอบถาม แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทำการทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One Way ANOVA) และการวิจัยเชิงคุณภาพได้ใช้เครื่องมือเป็นแบบสัมภาษณ์ โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key information) และได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis Technique)

          ผลการวิจัยพบว่า  ประชาชนที่มีความคิดเห็นต่อระดับประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๘๑, S.D. = ๐.๘๑๗) ประชาชนที่มี เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ พบว่า ด้านเพศ ระดับการศึกษา และอาชีพ ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนด้านอายุ รายได้ แตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ และมีแนวทางการพัฒนาประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดตามหลักธรรมหิริโอตตัปปะของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ พบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เน้นให้สอดแทรกหลักธรรมหิริโอตตัปปะในเนื้อหาการประชาสัมพันธ์รณรงค์ และปลุกจิตสำนึก และสร้างภูมิคุ้มกัน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนในการจัดกิจกรรมให้เห็นถึงภาพการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในชีวิตจริง และโทษภัยของยาเสพติด ตลอดจนได้รับผลกรรมของการกระทำที่ไม่ดี และมีการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยชี้ให้เห็นถึงความละอายและเกรงกลัวต่อบาปที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีการติดตาม และประเมินผลร่วมกันหลังจากดำเนินการตามโครงการนั้น ๆ ควรตระหนักถึง การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรวดเร็ว ควรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพระสงฆ์จัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องยาเสพติด โดยเน้นหลักธรรมหิริโอตตัปปะแก่เจ้าของสถานประกอบการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมในการปฏิบัติงาน เช่น ออกตรวจ สถานบันเทิง ร้านเกม/อินเตอร์เน็ตและไม่ควรยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะพัฒนาประสิทธิผลการดำเนินงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่จังหวัดแพร่มากยิ่งขึ้นต่อไป

References

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2555). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. กรุงเทพมหานคร: กองทุน ป.อ. ปยุตฺโต เพื่อเชิดชูธรรม.

พิศาล เอิบอาบ. (2555). ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534. กรุงเทพมหานคร: ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.

สถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่. (2556). สถิติการจับกุมคดียาเสพติด (ปี 2552 - 2556).

สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย. (2554). ยาและสิ่งเสพติดให้โทษ. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.

โสภา ชูพิกุลชัย สปิลมัมน์และคณะ. (2553). การศึกษาการแพร่ระบาดการติดสารเสพติดในเด็กและเยาวชนย่านชุมชนแออัด : ศึกษาเฉพาะกรณีในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.

วรเชษฐ์ รุ่งหลำ. (2552). “ปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษของข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธร จังหวัดราชบุรี”. วิทยานิพนธปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล,

วัชระ ทิพยมงคล. (2551). “ปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษของข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธร จังหวัดราชบุรี”. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต(รัฐศาสตร์) สาขารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหิดล.

วินัดดา โสภานิช. (2549). “คุณธรรมจริยธรรมของผู้ให้บริการงานประกันสังคม กรณีศึกษาจังหวัดปทุมธานี”. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร.

อภิรักษ์ เวชกาญจนา. (2552). “การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด: ศึกษากรณีกองบังคับการสอบสวน”. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม). สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่. (2557). ยุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามยาเสพติดของสถานีตำรวจภูธรหนองม่วงไข่. [ออนไลน์]. แหล่งทีมา: http://www. nongmuangkhai.phrae.police.go.th [20 พฤษภาคม 2557].

เผยแพร่แล้ว

2024-05-14