มังคละจังหวัดสุโขทัย : การประสมวงดนตรี และพิธีกรรมความเชื่อ

ผู้แต่ง

  • อุทาน บุญเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

คำสำคัญ:

มังคละจังหวัดสุโขทัย, การประสมวงดนตรี, พิธีกรรมความเชื่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาการประสมวงของมังคละในเขตจังหวัดสุโขทัย 2) เพื่อศึกษาพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับมังคละในเขตจังหวัดสุโขทัย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และศึกษาข้อมูลจากภาคสนามด้วยวิธีการสำรวจ การสังเกต และการสัมภาษณ์ ผลศึกษาพบว่า การประสมวงมังคละของจังหวัดสุโขทัย ปรากฏในหลักการนำศาสนามาเผยแพร่ตำนานพระพุทธสิหิงค์ของพระโพธิรังสีที่กล่าวว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1820-1860) ซึ่งวงมังคละมีลักษณะที่เปรียบได้กับ เบญจดุริยางค์ที่ได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย มีเครื่องดนตรีหลักจำนวน 5 ชิ้น ดังนี้  1) “อาคต” ใบหนึ่ง คือ กลองมังคละ 2) “วิตตํ” คือกลองยืน 3) “อาตตวิตตํ” คือกลองหลอน 4) “สุสิรํ” คือปี่มังคละ และ 5) “ฆนํ” คือฆ้องโหม่ง” และต่อมาประมาณ พ.ศ. 2485 วงมังคละได้มีวิวัฒนาการเพิ่มฉาบยืน ฉาบหลอน กลองรำมะนา กรับ และฉิ่งมาโดยลำดับ ด้านพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับกับมังคละในเขตจังหวัดสุโขทัย พบว่า วงมังคละยังรักษาพิธีกรรมไหว้ครูอยู่อย่างเคร่งครัด โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ไหว้ครูประจำปี ไหว้ครูเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ และไหว้ครูก่อนการแสดง ด้านความเชื่อเกี่ยวกับมังคละในเขตจังหวัดสุโขทัย พบว่า 1) โอกาสที่ใช้บรรเลงในอดีตสามารถบรรเลงได้ทุกงานปัจจุบันไม่นิยมบรรเลงในงานศพ 2) เครื่องดนตรีที่ไม่มีการสืบทอดต่อ มักนำเครื่องดนตรีดังกล่าวไปเก็บไว้ที่วัด หรือถวายวัด 3) หากได้ยินเสียงกลองดังเอง โดยไม่มีคนตีจะต้องมีเจ้าภาพมาจ้างวงดนตรีไปแสดง 4) มังคละเป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดได้ฟังได้บรรเลงแล้ว จะทำให้นำแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลเข้ามาสู่ชีวิต 5) นักดนตรีมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เครื่องดนตรีเปรียบเสมือนตัวแทนครูเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเสร็จแล้ว เก็บไว้ที่หิ้งสูงๆ และไม่นำไว้ใต้ถุนบ้าน จะนำไว้บนบ้านเท่านั้น 6) ห้ามข้ามเครื่องดนตรี ซึ่งจะทำให้ผิดครู จะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น และทำให้ชีวิตตกต่ำลง และ 7) การทำกลองมังคละมักจารตัวอักขระคาถา  “นะชาลิติ” ลงบนหน้ากลองมังคละ เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์หากตีเมื่อใดเชื่อว่าเสียงจะดังกังวาน เป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง เป็นต้น

References

เคียง ชำนิ. (18 มีนาคม 2561). สัมภาษณ์.

ดำรง ศรีม่วง. (23 มีนาคม 2561). สัมภาษณ์.

บุญมา สายสร้อยจีน. (18 มีนาคม 2561). สัมภาษณ์.

ปัญญา รุ่งเรือง. (2552). เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่องดนตรีพิธีกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 37. กรุงเทพฯ: เท็คโปรโมชั่นแอนด์แอดเวอร์ไทซิ่ง.

ทศพล แซ่เตีย. (2 เมษายน 2561). สัมภาษณ์.

ทศพร นาคพรม. (23 มีนาคม 2561). สัมภาษณ์.

สุวัฒน์ สุวรรณโรจน์. (19 มีนาคม 2561). สัมภาษณ์.

สันติ ศิริพันธุ์. (18 มีนาคม 2561). สัมภาษณ์.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. (2506). จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฉลองวันประสูติครบ 100 ปี 28 เมษายน 2506. พระนคร : ท่าพระจันทร์.

อุทาน บุญเมือง. (2561). การสร้างและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมครูเรื่องวงดนตรีมังคละของสำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามเพื่อสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่าง. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Morgan, L. H. (2010). Ancient Society or Researches in the Lines of Human Progress from Savagery through Barbarism to Civilzation. Chicago: Charles H. Kerr & company.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-11-2023