Publication Ethics
วารสารศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ ข้อค้นพบ หรือประเด็นใหม่ทางวิชาการในด้านศิลปกรรมศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ศิลปิน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อให้การเผยแพร่งานวิชาการมีความถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้เป็นการรับรองว่าผลงานวิชาการที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนจะเป็นผลงานที่มีคุณภาพ
ด้วยเหตุนี้ กองบรรณาธิการวารสารศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีและจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการสำหรับผู้เกี่ยวข้อง โดยระบุบทบาทและหน้าที่ของบุคคล 3 กลุ่มหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงจรการเผยแพร่วารสาร ได้แก่ ผู้เขียนบทความ (Author) บรรณาธิการวารสาร (Editor) และผู้ประเมินบทความ (Peer Reviewer) โดยบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามข้อกำหนดจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ดังนี้
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ
1. ผู้เขียนบทความต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมาเผยแพร่เป็นผลงานใหม่ และไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในที่ใดมาก่อน
2. ผู้เขียนบทความต้องจัดทำบทความให้ถูกต้องตามองค์ประกอบ รูปแบบ และหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนดไว้อย่างครบถ้วน
3. หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความ ผู้เขียนต้องอ้างอิงและระบุในบรรณานุกรมทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานการค้นคว้าและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น
4. ผู้เขียนบทความต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยหรือการค้นคว้าทางวิชาการอย่างซื่อสัตย์ ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จ และต้องไม่ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิมนุษยชน
5. ผู้เขียนบทความต้องไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ รวมถึงต้องไม่คัดลอกข้อความจากผลงานเดิมของตนเองโดยไม่อ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่าผลงานนั้นเป็นผลงานใหม่
6. ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยในบทความอย่างชัดเจน
7. ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการวิจัย ค้นคว้า และเขียนบทความร่วมกันจริง
8. ผู้เขียนบทความต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบถึงผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี) ตั้งแต่เริ่มส่งต้นฉบับบทความเพื่อการพิจารณา
9. ผู้เขียนบทความต้องยื่นหลักฐานแสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันที่ดำเนินการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากบทความนั้นมีการใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์
10. ผู้เขียนบทความต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาบทความ การประเมินบทความ หรือการดำเนินงานของวารสาร ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
11. บทความที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากผู้ประเมินจะถือเป็นอันตกไป และไม่สามารถนำมาพิจารณาใหม่หรือส่งมาเสนอใหม่ได้อีกครั้ง ไม่ว่ากรณีใด ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอของผู้ประเมินแล้วก็ตาม
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ
- บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความเพื่อเผยแพร่ในวารสารที่รับผิดชอบ
- บรรณาธิการมีหน้าที่เผยแพร่บทความในวารสารให้เป็นไปตามรูปแบบ องค์ประกอบ และหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนด
- บรรณาธิการต้องรักษาความลับของข้อมูลผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ โดยไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องทราบในระหว่างกระบวนการประเมินบทความ
- บรรณาธิการต้องไม่เผยแพร่บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในที่อื่น
- บรรณาธิการต้องเรียงลำดับการเผยแพร่บทความตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
- บรรณาธิการต้องไม่เผยแพร่บทความของตนเองในวารสารที่รับผิดชอบในขณะที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ
- บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ ผู้ประเมิน หรือผู้บริหารของวารสาร
- บรรณาธิการต้องดูแลไม่ให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาบทความ การประเมินบทความ หรือการดำเนินงานของวารสาร ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ
1. ผู้ประเมินบทความมีหน้าที่รักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของบทความที่ตนทำการประเมิน
2. ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมิน หากพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือมีบทบาทที่อาจทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระ
3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากความสำคัญของเนื้อหาที่มีต่อสาขาวิชาหรือหัวข้อที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคุณภาพของการวิเคราะห์และความเข้มข้นของผลงาน
4. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินตามหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนด โดยยึดหลักวิชาการ ปราศจากอคติ และประเมินตามข้อเท็จจริง โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนในการตัดสินผลการประเมิน
5. ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียน เพื่อช่วยในการปรับปรุงบทความ โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นสำคัญ
6. ผู้ประเมินบทความต้องระบุผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการสำคัญที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทความ หากพบว่ามีเนื้อหาที่เหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่นที่เคยมีการศึกษาไว้ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
7. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณา การประเมินบทความ และการดำเนินงานของวารสาร ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง