จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

วารสารครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่งานด้านวิชาการในประเภทบทความวิจัย และบทความวิชาการ  ในด้านการศึกษาให้กับนักศึกษา บุคลากรภายใน และบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัยที่สนใจ เพื่อการดำเนินงานในการดำเนินการและการสื่อสารทางวิชาการอย่างถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีและจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย ตามข้อกำหนดของ Committee on Publication Ethics (COPE) สำหรับการดำเนินงานของวารสารครุศาสตร์ ตามบทบาทหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม อันได้แก่ บรรณาธิการ (Editor) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และผู้นิพนธ์ (Author)  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ (Editors)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณา คัดเลือก และตรวจสอบบทความเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร ตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินและคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์ รวมถึงรูปแบบการตีพิมพ์ตามที่วารสารกำหนด
  2. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบบทความในด้านความซ้ำซ้อนหรือในด้านการคัดลอกผู้อื่น (Plagiarism) หากตรวจสอบพบความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ
  3. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์ในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์
  4. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
  5. บรรณาธิการมีหน้าที่คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาประเมินบทความให้ตรงกับศาสตร์หรือแขนง ของบทความนั้นๆ
  6. บรรณาธิการมีหน้าที่สรุปผลการประเมินข้อแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความเพื่อส่งให้ผู้นิพนธ์แก้ไข บรรณาธิการต้องไม่แทรกแซง เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์

  **7. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของบทความ หลังจากผู้นิพนธ์ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ หากผู้นิพนธ์ไม่ได้แก้ไขตามผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ กองบรรณาธิการ มีสิทธิยกเลิกบทความของผู้นิพนธ์ได้ทันที

  1. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
  2. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด
  3. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยเสมอ

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewers)

  1. ผู้ประเมินบทความพิจารณาประเมินบทความที่ตรงตามสาขาวิชาและมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของบทความนั้น
  2. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองประเมิน
  3. ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความวิจัย บทความวิชาการ และบทความปริทัศน์ ตามหลักทางวิชาการ และไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวพิจารณา โดยคำนึงถึงคุณภาพและจริยธรรมในการเผยแพร่เป็นสำคัญ
  4. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความภายในระยะเวลาประเมินที่กองบรรณาธิการกำหนด
  5. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Author)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องพิจารณาขอบเขตงานของตนเองว่าอยู่ในขอบเขตของวารสารหรือไม่
  2. ผลงานของผู้นิพนธ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน รวมถึงผลงานนั้นจะต้องไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากที่อื่น
  3. ผู้นิพนธ์จะต้องแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบการเขียนบทความ หากเป็นบทความวิจัยจะต้องเป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) และหากเป็นบทความวิชาการ จะต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และให้เหตุผลตามหลักทางวิชาการ
  4. ผู้นิพนธ์จะต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) หรือคัดลอกผลงานของตนเอง(Self -plagiarism) ในบทความและต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง
  5. ผู้นิพนธ์จัดทำบทความตามรูปแบบการเขียนบทความและเขียนตามรูปแบบที่วารสารกำหนดให้ครบถ้วน
  6. ผู้นิพนธ์ต้องจัดส่งบทความตามขั้นตอนการดำเนินงานของวารสาร
  7. ผู้นิพนธ์ต้องปรับแก้บทความตามข้อเสนอแนะของผู้ประเมินบทความ และ/หรือ กองบรรณาธิการภายในระยะเวลาที่กำหนด
  8. ผู้นิพนธ์ และ/หรือผู้ร่วมนิพนธ์ จะปฏิบัติตามจรรยาบรรณของนักวิจัยทุกประการ หากมีการฝ่าฝืน จะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์และ/หรือผู้ร่วมนิพนธ์ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการแต่อย่างใด